วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

ประวัติกีต้าร์คลาสสิค


ประวัติของกีตาร์คลาสสิค
กีต้าร์คลาสสิคเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าห้าศตวรรษ กล่าวคือยังมีบทเพลงย้อยหลังไปกว่า 500 ปี (คศ.1500) ที่ยังนำมาใช้เรียน เล่นและแสดงกันถึงปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าความนิยมของกีต้าร์คลาสสิคได้ลดน้อยถอยลงไปในกลางศตวรรษที่ 19 (1850) เนื่องจากกระแสความนิยมของ เปียโนฟอร์เต้ ได้เข้ามาแทนที่ในสำนักพระราชวังของเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในยุโรป อย่างไรก็ดี กระแสของกีต้าร์คลาสสิคก็ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อ อังเดร เซโกเวีย ได้ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นที่นิยมอีกครั้งไปทั่วโลก ในปัจจุบันกีต้าร์คลาสสิคได้มีการพัฒนาวิธีและเทคนิคการเล่นมากขึ้นกว่าเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมาก รวมทั้งมีบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่หรือเพิ่งจะค้นพบจากที่ต่างๆ มากมาย เนื่องจากถูกเก็บเอาไว้ในกรุอยู่เป็นร้อยปี ส่วนในด้านการทำกีต้าร์ ก็มีช่างทำกีต้าร์หรือ Luthier จำนวนหลายร้อยคนทั่วโลก ส่วนมากยังทำตามแบบอย่างของ ทอร์เรส ช่างทำกีต้าร์ในปลายศตวรรษที่ 19 ที่สามารถออกแบบกีต้าร์จนเป็นมาตรฐานจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการพยายามคิคค้นหาวิธีใหม่ๆ เพื่อทำให้กีต้าร์มีเสียงที่ดีและดังขึ้น บ้างก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง บ้างก็ล้มเหลว แต่ก็ยังมีปรากฎออกมาให้เห็นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาที่ยังไม่สิ้นสุดของการทำกีต้าร์
          ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาจะมีภาควิชากีต้าร์คลาสสิคอยู่ และมีจำนวนไม่น้อยที่สอนกันจนถึงระดับปริญญาเอก (Guitar Performance) สถาบันดนตรีชั้นนำของอังกฤษ แคนนาดา และออสเตรเรีย ก็มีการสอบเกรด ดังเช่นเครื่องดนตรีคลาสสิคอื่นๆ มีนักกีต้าร์ที่มีชื่อเสียงออกเดินทางไปแสดงทั่วโลก
          ในเมืองสยาม สถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้มีภาควิชากีต้าร์คลาสสิค ในระดับปริญญาตรี (Guitar Performance) ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มาตรฐานในระดับสากลแต่ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นกว่าเดิม อันเนื่องมาจากมีการนำเอานักกีต้าร์ที่มีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาแสดงและทำมาสเตอร์คลาส มีการจัดงานกีต้าร์เฟสติวัลทุกปี และมีการแสดงของนักกีต้าร์ระดับแนวหน้าของเมืองไทย ทั้งหมดนี้ส่วนมากเกิดจากการสนับสนุนและการเสียสละทั้งเงินทอง เวลา แรงใจแรงกายของ ชมรมกีต้าร์กรุงเทพฯ (www.bangkokguitar.com) ถึงแม้ว่าแทบไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอื่นๆ ในประเทศเลยก็ตาม แต่กลับได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากนักกีต้าร์ชั้นนำในยุโรปและญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้สนับสนุนช่างทำกีต้าร์ไทยที่มีความสนใจ โดยได้รับการฝึกสอนจากช่างทำกีต้าร์จากเยอร์มันและญี่ปุ่น จนมีฝีมือก้าวหน้าตามลำดับ          นอกจากนี้ยังมีสถาบันอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชนจำนวนมากที่เปิดสอนกีต้าร์คลาสสิค ถึงแม้ว่าจะถูกหลักหรือไม่ถูกหลักบ้างก็ตาม มีนักเรียนกีต้าร์ในทุกระดับชั้นตามสถาบันเหล่านี้นับเป็นหมื่นคน อย่างก็ดียังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิด หรือไม่เคยมีประสบการณ์กับกีต้าร์คลาสสิคเลย หรือเข้าใจว่าดนตรีที่เล่นด้วยกีต้าร์คลาสสิคก็คือเพลงกีต้าร์คลาสสิคทุกเพลง ซึ่งที่แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ก็ได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นเนื่องมาจากการปิดกั้นโอกาสทางดนตรี (และทางอื่นๆ) ของเมืองไทย และความเข้าใจผิดๆ ของคนไทย อีกทั้งความใจแคบของโรงเรียนบางแห่งและครูอาจารย์ทางดนตรีบางคน ทำให้นักเรียนและเยาวชนผู้สนใจไม่มีโอกาสหรือปิดโอกาสของตนเอง ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยสถาบันอื่นๆ
อ้างอิงเนื้อหา



อ้างอิงรูปภาพ


อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=wFTfpNqJ6kY

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น